หน้าเว็บ

HTMS Sri Ayudhya (เรือหลวงศรีอยุธยา)

ในภาพอาจจะมี ท้องฟ้า, มหาสมุทร, สถานที่กลางแจ้ง และ น้ำ
เรือหลวงศรีอยุธยา (HTMS Sri Ayudhya)



ที่เป็นเรือรบประเภทเรือปืนยามฝั่งเเห่งราชนาวีไทย โดยมีระวางขับน้ำขนาด 2,350 ตัน ด้วยเครื่องยนต์ดีเซล 2 เครื่อง ที่มีความเร็วมัธยัสถ์อยู่ที่ 12.2 น็อต พร้อมกับหมู่ปืนใหญ่หลักขนาด 8 นิ้ว เเบบเเท่นคู่ จำนวน 2 เเท่น เเละหมู่ปืนรองขนาด 3 นิ้ว อีก 4 กระบอก กับปืนกลขนาด 20 มิลลิเมตร อีก 4 กระบอก พร้อมพลประจำเรืออีก 234 นาย โดยที่เรือลำนี้ได้ถูกสั่งต่อจากอู่ต่อเรือคาวาซากิ ในประเทศญี่ปุ่น ที่ได้ทำการขึ้นระวางเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ.1938 ซึ่งเป็นเรือพี่เรือน้องกับ เรือหลวงธนบุรี ที่กำลังจะเข้าไปเปลี่ยนเวรรักษาการณ์ ณ เกาะช้าง ที่จังหวัดตราด ในช่วงเย็นของวันที่ 16 มกราคม ค.ศ.1941 เเต่ก็เกิดยุทธนาวีกับฝรั่งเศส (ยุทธนาวีเกาะช้าง) ในเช้าวันรุ่งขึ้นที่ให้เรือหลวงธนบุรีจมลงไปเสียก่อนแล้ว ส่งผลให้ เรือหลวงศรีอยุธยา จึงเปรียบเสมือนเป็นตัวตายตัวเเทนของ เรือหลวงธนบุรี ที่ได้เเสดงความกล้าหาญอีกลำหนึ่งของราชนาวีไทย

เรือหลวงศรีอยุธยา ได้เคยถวายงานเป็นเรือพระที่นั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (ขณะทรงมีพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช) และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ครั้งเสด็จนิวัติพระนครครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ.1938 และเสด็จนิวัติพระนครครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มีนาคม ค.ศ.1950 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (ขณะทรงมีพระอิสริยยศเป็น หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชจึงทรงมีพระราชปฏิสัมพัทธ์กับเรือพระที่นั่งลำนี้ ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ดังจะเห็นได้จากพระบรมฉายาลักษณ์ที่ทรงต่อเรือหลวงศรีอยุธยาจำลอง ด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง

เรือหลวงศรีอยุธยา มีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยในกรณีกบฏแมนฮัตตัน เมื่อวันที่ 29-30 มิถุนายน ค.ศ.1951 เมื่อทหารเรือกลุ่มหนึ่ง ที่นำโดย นาวาตรี มนัส จารุภา ได้นำกำลังทหารเรือส่วนหนึ่งพร้อมด้วยอาวุธปืนกลแมดเสน ซึ่งถือเป็นอาวุธหนัก เข้าบุกจู่โจมจับตัว จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ขณะทำหน้าที่เป็นประธานพิธีรับมอบเรือขุดสันดอนสัญชาติอเมริกันชื่อ "แมนฮัตตัน" จากอุปทูตสหรัฐอเมริกา ที่ท่าราชวรดิฐ ในเวลา 15.00 น. ท่ามกลางแขกเหรื่อผู้มีเกียรติมากมายในพิธี ลงจากเรือแมนฮัตตัน จากนั้นได้นำตัวลงเรือข้ามฟากเพื่อนำขึ้นไปยังเรือหลวงศรีอยุธยา ที่จอดลอยลำอยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเป็นตัวประกัน

เหตุที่ใช้เรือหลวงศรีอยุธยาเป็นสถานที่กักตัวประกัน ซึ่งเป็นเสมือนหัวใจสำคัญนั้น เพราะคณะผู้ก่อการมั่นใจในประสิทธิภาพของเรือ เพราะเป็นเรือเหล็กหุ้มเกราะที่หนาถึง 2.5 นิ้ว จนอาวุธเบาไม่สามารถทำอะไรได้ อีกทั้งยังมีอาวุธที่ทรงอานุภาพ คือ ปืนโฟร์ฟอร์ตที่มีขนาดถึง 8 นิ้ว ใว้ยิงวิถีราบ ที่ถือว่ามีอานุภาพสูงกว่าอาวุธของทางทหารบกเสียอีก

แต่ทว่าแผนการรัฐประหารในครั้งนี้เกิดความผิดพลาด เมื่อไม่เป็นไปตามแผน ซึ่งเรือหลวงศรีอยุธยาจะต้องแล่นผ่านสะพานพระพุทธยอดฟ้า เพื่อไปตั้งกองบัญชาการที่กรมสรรพาวุธทหารเรือที่เขตบางนา แต่ทว่าสะพานดันไม่เปิด จึงต้องกลับลำที่หน้าป้อมวิชัยประสิทธิ์ แล้วแล่นไปจอดลอยลำหน้าท่าราชวรดิฐ ตลอดทั้งคืนของวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ.1951 เเต่การปะทะก็ยังไม่เกิดขึ้น แต่บรรยากาศของความตึงเครียดก็ได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ในส่วนตัวของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ถูกจับกุมตัวไป ได้เจรจากับคณะผู้ก่อการที่นำโดย นาวาเอก อานนท์ ปุณฑริกกาภา และ น.ต.มนัส จารุภา ถึงเหตุผลของการกระทำ และเป็นผู้เสนอที่จะออกอากาศโดยบันทึกเสียงจากเส้นลวดบันทึกเสียง แล้วถูกนำไปออกอากาศกระจายเสียงทางวิทยุทหารเรือ ว่าเป็นแถลงการณ์จากนายกรัฐมนตรีด้วยความสมัครใจ ไม่ได้เป็นการบีบบังคับ แต่ทางฝ่ายรัฐบาลได้ออกกระจายเสียงตอบโต้ไปทางวิทยุกรมการรักษาดินแดน ซึ่งทางรัฐบาลได้ตัดสินใจให้ฝ่ายทหารเรือบุกชิงตัวจอมพล ป. กลับคืนมาก่อนรุ่งสาง ไม่เช่นนั้นจะทำการเข้าโจมตีให้เด็ดขาดกันไปข้างนึง แต่ทางทหารเรือปฏิเสธเพราะเกรงว่าจอมพล ป. จะได้รับอันตราย แม้ทาง พลเรือโท ผัน นาวาวิจิต ผู้บังคับการกองเรือรบ ซึ่งถือเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของคณะผู้ก่อการ จะขออาสาขึ้นไปบนเรือเองในเวลารุ่งเช้าเพื่อเจรจากับกลุ่มผู้ก่อการ

จนกระทั่งเช้ามืดของวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ.1951 ทหารฝ่ายรัฐบาลระดมกำลังเข้าโจมตีทหารเรือทุกจุด การยิงต่อสู้เป็นไปอย่างดุเดือดติดต่อกันหลายชั่วโมง จนเรือหลวงศรีอยุธยาต้องหะเบส "ถอนสมอ" ออกจากท่าราชวรดิฐ แล่นขึ้นไปทางเหนือแล้วล่องลงมาเพื่อทำการยิงสนับสนุน ต่อมากองทัพอากาศส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิด บริเวณลานวัดพระยาทำ ขณะทหารกำลังตั้งแถวรับคำสั่ง ที่บริเวณกรมอู่ทหารเรือ และที่กองเรือรบซึ่งทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิตเป็นจำนวนมากทั้งทหารและพลเรือน ถึงตอนนี้เรือหลวงศรีอยุธยาเครื่องยนต์ก็เกิดเสียจากการถูกโจมตีอย่างหนัก เเละเครื่องจักรใหญ่ของเรือก็ใช้การได้เพียงเครื่องเดียว เเละเรือหลวงศรีอยุธยาก็ล่องลงมาถึงหน้าป้อมวิชัยประสิทธิ์ เพื่อกลับลำ ปรากฏว่าเครื่องกลับจักรขวาเกิดชำรุดขึ้นมาอีก จึงหมดสมรรถภาพที่จะสามารถในการขับเคลื่อนต่อไปได้อีก เลยต้องลอยลำอยู่หน้าป้อมวิชัยประสิทธิ์ จนกระทั่งฐานที่มั่นของคณะผู้ก่อการที่ท่าราชวรดิฐแตก เป้าการโจมตีจึงหันมาอยู่ที่เรือหลวงศรีอยุธยาเเต่เพียงอย่างเดียว

จนกระทั่งเวลาประมาณ 15.30 น. ทางกองทัพอากาศที่บัญชาการโดย พลอากาศเอก ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี ตัดสินใจส่งเครื่องบิน (ฝึก) เเบบ เอ.ที.หรือ ฝ.เป็นจำนวนมากเข้ามารุมโจมตีเรือหลวงศรีอยุธยา พร้อมทั้งยิงกราดด้วยปืนกล ขณะเดียวกันทหารบกและตำรวจช่วยทำการยิงขัดขวางไม่ให้ทหารประจำเรือให้สามารถขึ้นมายิงต่อสู้กับเครื่องบินบนดาดฟ้าได้ ซึ่งภารกิจยิงต่อสู้จึงตกอยู่กับทหารเรือที่อยู่บนป้อมวิชัยประสิทธิ์ และพระราชวังเดิม ซึ่งต้องยิงต่อสู้ทั้งเครื่องบิน และทหารรัฐบาลฝั่งตรงข้าม การต่อสู้ก็มีแต่อาวุธเบา จนกระทั่งในที่สุดเรือหลวงศรีอยุธยาก็เกิดเพลิงไหม้ ที่ทำให้สถานการณ์ของฝ่ายผู้ก่อการแย่ลงทุกขณะ จนทำให้ทหารเรือ 2 นายที่ประจำเรือหลวงศรีอยุธยาตัดสินใจสวมเสื้อชูชีพให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม แล้วนำกระโดดลงน้ำว่ายข้ามมา โดยมีทหารเรือที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์เป็นผู้ยิงคุ้มกันให้

หลังจากนั้นทั้งสองฝ่ายจึงเปิดการเจรจากันในที่สุด โดยคณะผู้ก่อการก็ยอมรับความพ่ายแพ้ด้วยการปล่อยตัวจอมพล ป. กลับคืนให้แก่รัฐบาลด้วยความปลอดภัย และแกนนำผู้ก่อการต้องแยกย้ายกันหลบหนีด้วยรถไฟไปทางภาคเหนือก่อนจะเดินเท้าข้ามพรมแดนข้ามไปยังประเทศพม่า

ในส่วนของเรือหลวงศรีอยุธยา หลังจากเกิดไฟไหม้อยู่เป็นเวลานานก็ได้อัปปางลงที่กลางแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงกลางดึกของคืนวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ.1951

จนกระทั่งต่อมาซากเรือหลวงศรีอยุธยาก็ได้ถูกกู้ขึ้นมาเมื่อในวันที่ 8 ตุลาคม ค.ศ.1959 ด้วยเพราะเพื่อไม่ให้ซากของเรือเป็นสิ่งกีดขวางในเส้นทางของการเดินเรือในเเม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยคำสั่งจากคณะรัฐมนตรีที่ 350/21315


ภาพต้นฉบับ:http://www.marinerthai.net/sara/pics/94005.JPG


เครดิตรูปhttps://www.facebook.com/warshipthai/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น